1. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea)
เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปโตซัว พยาธิ ทำให้มีการถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นมูกเลือด
2. โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)
ติดต่อโดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ มักพบในอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ ซึ่งมีอยู่ทั้งในเนื้อสัตว์ ไข่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรืออาหารที่ปรุงทิ้งไว้เป็นเวลานาน ซึ่งคนที่ได้รับเชื้อเข้าไปมักมีไข้ ปวดท้อง ซึ่งเชื้อที่ได้รับสามารถทำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารและลำไส้ได้ จึงทำให้มีอาการปวดท้อง ปวดเมื่อย คลื่นไส้อาเจียน อุจจาระร่วงด้วย หรือการติดเชื้อจากอวัยวะอื่น เช่น ข้อกระดูก ถุงน้ำดี หัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง ไปจนถึงโลหิตเป็นพิษ ซึ่งหากเกิดในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ จะมีโอกาสทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยหล่ะค่ะ
3. โรคบิด (Dysentery)
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรืออะมีบา ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านการรับประทานอาหาร ผักดิบ รวมถึงน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคด้วยนะคะ หากติดเชื้อก็มักจะมีไข้ ปวดท้องแบบปวดเบ่ง ถ่ายอุจจาระบ่อย และอาจทำให้อุจจาระมีมูกหรือมูกปนเลือดได้อีกด้วย
4. อหิวาตกโรค (Cholera)
เกิดจากเชื้ออหิวาตกโรค ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อจากอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ซึ่งหากติดเชื้อโรคนี้จะทำให้เราถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมากๆ โดยไม่มีอาการปวดท้อง และมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว เช่น กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อก หมดสติจากการเสียน้ำ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกันค่ะ
5. ไข้ไทฟอยด์หรือ ไข้รากสาดน้อย (Typhoid)
อีกหนึ่งโรคที่สามารถติดต่อจากอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเช่นกัน ซึ่งเจ้าโรคไข้ไทฟอยด์นี้จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร และอาจท้องผูกหรือท้องเสียได้ นอกจากนี้เชื้อปนก็อาจปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะเป็นครั้งคราวได้ด้วย ทำให้เราเป็นพาหะนำโรคได้นั่นเองค่ะ
6. โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ (Rabies)
ส่วนใหญ่มักเกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นพาหะนำโรคมาสู่เรานั่นเองค่ะ ซึ่งมักจะพบเชื้อจากสุนัขและแมวนี่หล่ะค่ะ โดยสามารถติดต่อได้จากทั้งการโดนกัด หรือถูกเลียบริเวณที่มีแผลถลอก หรือแม้แต่น้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก จมูก อีกด้วยค่ะ ซึ่งหากถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันและต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบเพื่อเข้าควบคุมโรคในพื้นที่ทันทีค่ะ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการภายใน 15-60 วัน ซึ่งบางรายอาจใช้เวลานานเป็นปีเลยค่ะ และเนื่องจากปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษา จึงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 2-7 วันหลังแสดงอาการ |